Bangpakok Hospital

โรคไข้หวัดใหญ่

19 มี.ค. 2562

โรคไข้หวัดใหญ่ 

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza virus) หรือที่รู้จักกันในชื่อของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่


ไข้หวัดใหญ่มีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ 

          - ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A) ถือเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด และสามารถแพร่ระบาดไปได้ทั่วโลก โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอ จะแบ่งความแตกต่างออกเป็นอีกหลายชนิดย่อย ๆ โดยแบ่งตามชนิดของโปรตีนของไวรัสคือ H (Hemagglutinin) และ N (Neuraminidase) โดยชนิดย่อยของไข้หวัดสายพันธุ์ A ที่เคยแพร่ระบาดก็อย่างเช่น  เช่น ไข้หวัดสุกร H3N2, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1

          - ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B) เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเฉพาะในภูมิภาค และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น มีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เอ แต่รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสายพันธุ์ซี ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วอาการก็จะคล้าย ๆ กับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

          - ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C (Influenza C) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้น้อยมาก อีกทั้งยังมีอาการที่ไม่รุนแรงและไม่พบการระบาด จึงทำให้บางครั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ก็ไม่ถูกนับรวมเป็นชนิดของโรคไข้หวัดใหญ่

 

อาการ

มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง
ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง
แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก

 

วิธีการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่


            ส่วนใหญ่ทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคองให้การดูแล รักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีปอดบวมจำเป็นต้องนอนรักษาตัวใน โรงพยาบาล

 

การป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยการฉีดวัคซีน           

           วัคซีนใช้ป้องกันการติดเชื้อ และต้องให้ซ้ำทุกปีก่อนฤดูการระบาด แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับสายพันธุ์ของไวรัสที่ใช้ทำวัคซีนเท่านั้น ในแต่ละปีสายพันธุ์ที่ใช้ทำวัคซีนจะแตกต่างกันไปตามความคาดหมายว่าเชื้อสายพันธุ์ใดจะระบาดในปีนั้นๆ ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงอาจไม่สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้

ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2109-8111 ต่อ 2117, 2118

 

 

 

 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.